คมนาคมถูกหั่นงบลงทุน 1.6 หมื่นล.
“ศักดิ์สยาม” เผยงบประมาณปี 65 วงเงิน 2.1 แสนล้าน หลังโดนสำนักงบประมาณหั่นงบกว่า 1.6 หมื่นล้าน ยันไม่มีแผนโอนงบเยียวยาโควิด
สถานการณ์โควิด รัฐบาลระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยพิจารณาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 (1ตุลาคม2564-30 กันยายน 2565) ที่สำนักงบประมาณ อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้างบประมาณรายจ่ายประจำปีปี 2565 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม นั้น ปัจจุบันสำนักงบประมาณได้อนุมัติจัดทำงบประมาณปี 2565 วงเงิน 211,611.95 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนราชการ 8 หน่วยงาน วงเงิน 175,858.71 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน วงเงิน 35,753.24 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 จำนวน 16,282.24 ล้านบาท คิดเป็น 7.14%“ส่วนงบประมาณปี 2565 จะมีการปรับลดงบประมาณเพื่อช่วยงบประมาณเยียวยาด้านการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่หรือไม่นั้น เรามองว่าการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้เป็นไปตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ไม่เกี่ยวกับแผนช่วยเยียวยาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะเรื่องนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันงบลงทุนส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) รวมทั้งที่ผ่านมาสำนักงบประมาณได้มีการปรับลดงบประมาณไปแล้ว”
ทั้งนี้ 8 หน่วยงานส่วนราชการ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มีนาคม 2564 ซึ่งลดลงจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรปี 2564 ดังนี้ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 553 ล้านบาท ลดลง 65 ล้านบาท คิดเป็น 10.52% 2.กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 4,590 ล้านบาท ลดลง 228 ล้านบาท คิดเป็น 4.74% 3.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 3,464 ล้านบาท ลดลง 237 ล้านบาท คิดเป็น 6.42% 4.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 5,194 ล้านบาท ลดลง 513 ล้านบาท คิดเป็น 9% 5.กรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 115,422 ล้านบาท ลดลง 10,524 ล้านบาท คิดเป็น 8.36% 6.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 46,242 ล้านบาท ลดลง 2,547 ล้านบาท คิดเป็น 5.22% 7.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 275 ล้านบาท ลดลง 20 ล้านบาท คิดเป็น 8.20% และ 8.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงิน 116 ล้านบาท ลดลง 3 ล้านบาท คิดเป็น 3.29%ขณะที่ 5 รัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มีนาคม 2564 ซึ่งลดลงจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรปี 2564 ดังนี้ 1.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 11 ล้านบาท ลดลง 75 ล้านบาท คิดเป็น 87.06% 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 4,148 ล้านบาท ลดลง 337 ล้านบาท คิดเป็น 7.52% 3.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 159 ล้านบาท ลดลง 157 ล้านบาท คิดเป็น 49.72% 4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 18,383 ล้านบาท ลดลง 404 ล้านบาท 2.25% 5.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 13,051 ล้านบาท ลดลง 2,016 ล้านบาท คิดเป็น 13.38%
สำหรับโครงการลงทุนที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ในปี 2565 เช่น 1. โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) วงเงิน 4,558 ล้านบาท 2.การพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท วงเงิน 23,313 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้งทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (เวนคืนที่ดิน) วงเงิน 13,705 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-นครพนม (เวนคืน จังหวัดร้อยเอ็ด) วงเงิน 9,912 ล้านบาท 5.โครงการรถไฟไทย-จีน (ระยะที่ 1) ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา (ค่าเวนคืน) วงเงิน 34,192 ล้านบาท เป็นต้น
11/5/2564 ฐานเศรษฐกิจ (11 พฤษภาคม 2564)